7 เหตุผลที่รถไฟญี่ปุ่นต่างจากที่อื่นๆ

เรื่องราวเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะของญี่ปุ่นนั้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับ หนัง AV เอ๊ย รถไฟความเร็วสูง ทั้งในเรื่องการบริการ ความสะดวกสบาย ความสะอาดสะอ้าน ความเร็ว รวมถึงความตรงต่อเวลา
ถ้าอย่างนั้น เราจะมาดูกันว่า รถไฟที่ญี่ปุ่นมีเสน่ห์อย่างไร และอะไรทำให้แตกต่างจากที่อื่นๆ


7 เหตุผลที่ทำให้รถไฟญี่ปุ่นแตกต่างจากที่อื่นๆ

1. การร่วมมือและความสามัคคีกัน
โครงการรถไฟความเร็วสูง Shinkansen เริ่มต้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงแรกนั้นมีเสียงต่อต้านออกมาพอสมควร เพราะเกรงว่าจะไม่คุ้ม และรถไฟจะตกยุคไปในที่สุด แต่นาย Shinji Sogo ประธานของการรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japanese National Railways: JNR) ได้ยืนกรานในแนวคิดรถไฟความเร็วสูงนั้นและสามารถผลักดันจนเป็นที่สำเร็จ และด้วยความร่วมไม้ร่วมมือกันของคนในชาติ ทำให้ญี่ปุ่นนับเป็นชาติแรกที่มีการสร้างรถไฟความเร็วสูงแบบใหม่นี้


โดยรัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติโครงการในปี ค.ศ.1958 สายแรก คือ Tokaido Shinkansenเชื่อม ระหว่างโตเกียว - โอซาก้า ระยะทาง 515 กิโลเมตร ซึ่งต้องกู้เงินธนาคารโลกมาก่อสร้างเส้นทางนี้ 80 ล้านดอลล่าสหรัฐ แต่ภายหลังพบว่า มีความผิดพลาด ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นถึง 2 เท่าตัว นาย Shinji Sogo จึงลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

จนกระทั่งในปี ค.ศ.1964 ทางรถไฟสาย Tokaido Shinkansen ก็สร้างเสร็จ และโรงงานที่ผลิตรถไฟในญี่ปุ่นก็ทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อผลิตรถไฟ Shinkansen "0 Series" ซึ่งผู้ผลิตรถไฟ 6 บริษัทที่ร่วมมือกัน คือ Nippon Sharyo, Kawasaki Sharyo, Kinki Sharyo, Kisha, Hitachi และ Tokyo Car Corporation ทำให้ปัจจุบันนี้รถไฟ Shinkansen ของญี่ปุ่นมีความน่าเชื่อถือดีกว่ารถไฟที่อื่นๆ ในโลก


2. การแข่งขันกันของบริษัทผู้ให้บริการรถไฟ
แม้ผู้ผลิตรถไฟในญี่ปุ่นจะแชร์ความรู้ การวิจัย เทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ให้กันและกัน แต่ธุรกิจก็คือธุรกิจ ... ย่อมต้องมีการแข่งขันกัน โดย Nippon Railway บริษัทเอกชนเจ้าแรก (ก่อตั้งขึ้นในปี 1881) ปัจจุบันมีรถไฟ 16 สายหลัก เป็นคู่แข่งชั้นดีกับ Japan Railways Group (JR) ซึ่ง ประกอบไปด้วย 6 บริษัท ที่ให้บริการแบ่งแยกกันไปตามภูมิภาค การแข่งขันนี้จัดว่าค่อนข้างดุเดือดทีเดียว ทำให้มีอย่างน้อย 2 เจ้า วิ่งในบริการในเส้นทางเดียวกัน และพยายามแข่งกันว่า ใครจะเร็วกว่ากัน แถมยังแข่งกันจูงใจผู้โดยสารด้วยบริการอย่างอื่น เช่น การเปิดห้างสรรพสินค้าในเครือให้เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟที่ตนเองให้บริการ อยู่อีกด้วย


3. เทคโนโลยีเกี่ยวกับรถไฟ
รถไฟญี่ปุ่นมักจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ประหยัด คุ้มค่ามากที่สุด โดยมีอายุการใช้งานที่เหมาะสม (ประมาณ 15 ปี) และนิยมใช้ของใหม่ทดแทนของเก่าที่หมดอายุ ซึ่งรถไฟญี่ปุ่นไม่นิยมซ่อม แต่จะนิยมพัฒนาและเปลี่ยนมากกว่า เพราะเทคโนโลยีเขาพัฒนาขึ้นมาไวมากนั่นเอง เราจึงได้เห็นรถไฟรูปทรงแปลกๆ หน้าตาใหม่ๆ ออกมาวิ่งให้บริการกันอยู่เสมอๆ และยังพัฒนาเทคโนโลยี ความเร็ว อุปกรณ์ความสะดวก รวมถึงระบบด้านความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจ และความประทับใจได้เป็นอย่างดี

4. ความหลากหลายของบริการเรื่องความเร็ว
เนื่องจากรถไฟญี่ปุ่นมีผู้ให้บริการหลายบริษัท ทำให้มีบริการที่หลากหลายด้วย โดยมีการให้บริการที่มีความเร็วที่แตกต่างกัน ทั้งขบวนแบบหวานเย็น แบบจอดเฉพาะป้ายหลักๆ หรือแบบจอดเฉพาะสถานีใหญ่เท่านั้น อยากไปถึงจุดหมายปลายทางเร็วแค่ไหน ผู้โดยสารก็สามารถเลือกกันได้ตามความเหมาะสม เช่น สาย Tokaido มีให้เลือกความเร็ว 3 แบบ คือ Nozomi (เร็วสุดๆ จากโตเกียวไปโอซาก้า แค่ 2 ชั่วโมง 26 นาที) แบบ Hikari (ปานกลาง ประมาณ 3 ชั่วโมง) และ Kodama ซึ่งเป็นแบบหวานเย็น (สบายๆ ประมาณ 4 ชั่วโมง)

โดย JR West (West Japan Railway Company) ครองแชมป์ในเรื่องนี้อยู่ เพราะมีรถไฟที่มีความเร็วต่างกันให้ผู้โดยสารเลือกกว่า 13 แบบ จะถึงเร็วมาก เร็วน้อย เลือกได้ตามใจชอบ
(จะหลายรูปแบบไปไหนฟะ บ้านตรูยังมีแบบเดียวอยู่เลย คือ แบบโคตะระหวานเย็นเจี๊ยบ)

เนื่องด้วยความเร็วสูงมาก ดังนั้นเพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งที่อาจขึ้นมาเพ่นพ่านบนราง ราง Shinkansen ทั้งหมด จึงเป็นรางแบบยกระดับหรือกั้น ไม่มีถนนตัดผ่าน


5. ตารางราคาที่ซับซ้อน
ด้วยความที่ความเร็วของรถไฟแต่ละขบวนมีให้เลือกใช้บริการกันตั้งหลายแบบ ตารางราคามันก็ต้องออกแนวซับซ้อนกันบ้าง บางขบวนก็มีที่นั่งหลายประเภท ต้องจ่ายค่าระบุที่นั่งเพิ่ม ถ้าขึ้นขบวนที่เร็วเป็นพิเศษสุดๆ บางขบวนต้องจ่าย ค่าความเร็ว ด้วย


6. ความตรงต่อเวลา
ความตรงต่อเวลาของรถไฟญี่ปุ่นเป็นที่ร่ำลือมานานแล้ว มีการทำสถิติไว้หลายอย่างสำหรับรถไฟญี่ปุ่น เช่น ในช่วงเวลาเร่งด่วน (rush-hours) รถไฟ Shinkansen ที่ออกจากโตเกียวนั้นมีจำนวนถี่มาก และสามารถออกได้ตรงเวลา ถึงขนาดออกเดินทางได้ทุกๆ 3 นาที ในช่วงแรกๆ อัตราออกเดินทางล่าช้า (delay) เฉลี่ยที่ 18 วินาที จนในปีค.ศ. 2003 ลดมาเหลือ 6 วินาที จนปัจจุบัน delay เฉลี่ยแค่ 3 วินาทีเท่านั้น (แบบนี้เค้าเรียก delay แล้วหรอฟะ บ้านตรูช้าไป 4-5 นาที ยังยืนยิ้มกันอยู่เบย)

7. ความประหยัดและคุ้มค่า
แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเป็นยังไง แต่ JR East (East Japan Railway) ก็ยังคาดว่าจะได้รับผลกำไรต่อปีมากกว่า 130,000 ล้านเยน เพราะคนยังต้องเดินทางตลอดเวลา โดยเฉพาะการเดินทางเพื่อติดต่อการค้า และธุรกิจ บางคนเดินทางวันเดียวไปจังหวัดไกลๆ แล้วกลับมานอนที่บ้านได้ เพราะรถไฟเร็ว ไม่เสียเวลา คุ้มค่า แถมยังสะดวกสบาย นอกจากนี้ ค่าตั๋วรถไฟก็ไม่แพงมาก และหลากหลายอย่างให้ได้เลือกใช้กัน รถไฟจึงกลายเป็นบริการยอดฮิตในญี่ปุ่นไปโดยปริยาย

ขอบคุณ : marumura.com/history

ผมก็หวังว่าสักวันไทยเราคงจะมีบ้างอย่างเขา แม้ว่าวันนี้เราเพิ่งคิดจะทำ (หลังจากที่เขามีมาแล้ว 50 ปี) แต่ทำแล้วก็ขอให้ทำให้เสร็จนะ ไม่เอาแบบโฮปเวลนะตัวเธอ
Credit : YESK_TS369