ตกลงคนเป็นสัตว์กินพืชหรือสัตว์กินเนื้อกันแน่?

โดยส่วนตัวผมไม่ได้มีอะไรต่อต้านการกินผักกินเจหรอกนะครับ เพียงแต่รู้สึกว่า เหตุผลต่างๆ ที่ท่านทั้งหลายนำมาอ้างเกี่ยวกับธรรมชาติเนี่ย ดูมันจะเป็นการสรุปอะไรอย่างง่ายดายเกินไปหน่อย..

เช่น นี้แล้ว กระผมอยากใคร่ชักชวนพวกเรา ลองมาวิเคราะห์ข้อเท็จจริงต่างๆ กันอย่างลึกซึ้งกว่านี้อีกหน่อยจะดีไหม? เผื่อจะได้มาซึ่งเหตุผลในการละเว้นเนื้อสัตว์ ที่มันสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น (ถ้าหากท่านเชื่อว่าการอ้างอิงความจริงเป็นเรื่องสำคัญนะ)

อันดับแรกเลย ขอเชิญมาดูเรื่องฟันกันก่อนครับ



 โอเค จริงอยู่ ฟันพวกสัตว์กินเนื้ออย่างหมากับแมว มีทั้งเขี้ยวแหลมคม ทั้งหยึกหยักขึกขัก แตกต่างจากของคนโดยชัดเจน อันนี้ต่อให้เอาเด็กอ้วนเบร้อ-นมบอดที่ไหนมาดูก็น่าจะสามารถบ่งบอกได้ เรื่องนี้มันไม่มีใครเถียงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ทว่า ในขณะเดียวกัน ครั้นจะฟันธงไปเลยว่าฟันคนมันเหมือนกับของสัตว์กินพืช..

อืมม.... อันนี้ ผมว่า.. มันก็ไม่ได้เหมือนซะทีเดียวนะ

หาก ดูให้ละเอียด ฟันกรามของสัตว์กินพืช จะมีลักษณะพิเศษคือซี่มันจะใหญ่โตโอราฬ แล้วก็จะงอกสูงตระหง่านขึ้นมาจากระดับเหงือกเยอะมาก ทั้งนี้เพื่อเป็นการเผื่อเนื้อที่ในการสึกกร่อน อันมักบังเกิดจากการที่ต้องเสียดสีกับความหยาบคายของกิ่งไม้ใบหญ้าอยู่ตลอด เวลา ฟันกรามของคนเรา เมื่อพินิจน์ดูแล้ว ช่างงอกเตี้ยติดเหงือกกว่าของพวกนี้มากนัก


ซ้าย: ฟันกรามคน ขวา: ฟันกรามม้า


ประการต่อมา สำหรับสัตว์กินพืช การบดๆๆ แล้วก็เคี้ยวๆๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ยิ่งมีจำนวนฟันที่อุทิศให้กับหน้าที่นี้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ดังนั้น ตลอดระยะเวลาวิวัฒนาการที่ผ่านมา ฟันกรามเล็กของสายพันธุ์สัตว์กินพืชจึงมักถูกเกณฑ์ให้ไปช่วยทำหน้าที่ในการ บดร่วมกันกับฟันกรามใหญ่ รูปร่างของมันก็มักจะได้รับการปรับแต่งจนมีหน้าตาและการใช้งานที่เหมือนกับ ฟันกรามใหญ่เป๊ะ ในขณะที่ ถ้าเรามาดูในฟันกรามเล็กของคนเรา จะพบว่า ลักษณะมันยังเป็นกึ่งๆ ระหว่างฟันกรามกับฟันเขี้ยวอยู่ คือมีทั้งหน้าตัดที่กว้าง แล้วก็มีทั้งยอดที่แหลมๆ ขึ้นมาด้วย คงความเอนกประสงค์เอาไว้ เผื่อสำหรับเวลากินเนื้อ ก็จะได้สามารถใช้ฟันพวกนี้แหละ ทั้งฉีกทั้งเคี้ยวในซี่เดียวกัน


บน: ฟันวัว ล่าง: ฟันคน

สังเกตว่าฟันกรามใหญ่กรามเล็กของวัวจะหน้าตาเหมือนกันเอาไว้ ใช้บดเคี้ยวทั้งคู่ ส่วนในคน กรามเล็กจะมียอดแหลมๆ อยู่ เอาไว้ช่วยฟันเขี้ยวในการเจาะฉีกมากกว่า

นอกจากนี้ อีกส่วนนึงที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดจริงๆ ก็คือ ในสัตว์กินพืช ฟันกรามทั้งหมด พื้นผิวหน้าตัดด้านบนมันจะได้รับการดัดแปลงพิเศษ ให้มีสันมีร่องต่างๆ มากมาย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบด ครูด ขยี้ อาหารที่มันกินเข้าไปให้แหลกละเอียด (นึกถึงภาพ ที่บดปลาหมึก ไม่ก็ไอ้เครื่องที่เค้าเอาไว้ใช้รีดน้ำอ้อย พวกนี้จะมีลักษณะพื้นผิวเป็นสันๆ ร่องๆ เหมือนกัน) ถ้าไปดูฟันกรามของวัว ของกวาง ของแกะ จะเห็นได้ชัดเลยว่าทุกซี่ล้วนมีสันมีร่องตามยาวไล่ขนานไปกับแนวขากรรไกร ยิ่งของม้านี้ยิ่งมีมากร่อง พับไปพับมา สลับซับซ้อนมาก..


บนซ้าย: ฟันกรามวัว บนขวา: ฟันกรามกวาง ล่าง: ฟันกรามกาเซล(สัตว์ตระกูลกวางชนิดหนึ่ง)


ทุกรูป: ฟันกรามม้า


ส่วนในสมเสร็จ พะยูน และสัตว์ตระกูลหนูกระรอกอีกหลายๆ ชนิด พวกนี้ฟันกรามก็จะมีร่องเหมือนกันแต่เป็นร่องตามแนวขวาง..


 

ของ ช้างนี่ยิ่งแล้วใหญ่ แค่ฟันกรามซี่เดียวของมัน ก็ยาวเท่าแขนเราแล้ว แต่ละซี่หนักถึง 4 กิโล มีร่องตามขวางซ้อนๆๆ กัน บางทีเป็นสิบกว่าร่อง ฟันซี่ใหญ่ขนาดนี้ ใช้ทีละไม่กี่ซี่ก็พอ ดังนั้น ทั้งปากช้างจึงมีฟันอยู่ทั้งหมดแค่ 4 ซี่ กรามบน 2 กรามล่าง 2 (ไม่นับงา) ที่เหลือสำรองเก็บไว้ พอฟันเดิมใช้งานสึกหรอไปเรื่อยๆ ซี่ใหม่ถึงค่อยงอกออกมาทดแทน.. และที่แปลกพิศดารมากก็คือ แทนที่มันจะงอกขึ้นมาตามแนวตั้งเหมือนอย่างฟันสัตว์อื่นๆ ทั่วๆ ไป ฟันกรามของพี่ช้างแกกลับงอกตามแนวนอน! ฟันเก่าค่อยๆ สึกไป ฟันใหม่ก็ค่อยๆ งอกดันออกมาเสียบแทนจากทางด้านหลังของขากรรไกรเรื่อยๆ ทั้งชีวิตมีสำรองให้ใช้ได้ทั้งหมด 6 ชุด หมดแล้วก็หมดเลย ช้างที่แก่มากๆ ซึ่งใช้ฟันมาจนครบหมดชุดแล้ว จึงต้องเลือกกินอาหารอย่างระมัดระวัง เพราะเกิดกินของแข็งๆ มากไป เคี้ยวไม่บันยะบันยัง ประเดี๋ยวฟันชุดสุดท้ายสึกหมด ต่อไปก็จะไม่สามารถกินอะไรได้อีก ก่อให้เกิดเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ (ยกเว้นจะมีคนทำฟันปลอมช้างให้ใส่)


ฟันกรามช้าง: ที่เห็นเป็นแผงยาวๆ ใหญ่ๆ มีร่องหลายๆ ร่อง นี่คือแค่ซี่เดียว ไม่ใช่หลายซี่


ลำดับ การงอกของฟันกรามทั้ง 6 ชุดของช้าง: แต่ละชุดระบายสีคนละสีกัน ชุดใหม่จะค่อยๆ งอกดันออกมาแทนที่ชุดเก่าจากทางด้านหลังเรื่อยๆ สังเกตุว่าอายุ 30 แล้ว ฟันชุดสุดท้ายถึงเพิ่งจะขึ้น


นี่แหละครับ ถ้าดูกันที่ร่องที่สันของฟันกรามละก็ บนฟันคนเราไม่มีอะไรแบบนี้แน่นอน แตกต่างจากของสัตว์กินพืชโดยสิ้นเชิง ต่อให้เอาเด็กอ้วนเบร้อ-นมบอดคนเดิมมาดูก็น่าจะบ่งบอกได้ง่ายไม่แพ้กัน

ใน ความเป็นจริง พื้นผิวด้านบนของฟันกรามใหญ่ของคน มีลักษณะเป็นปุ่มๆ นูนๆ มนๆ โผล่ขึ้นมาตรงมุม ทั้งหมด 4 ปุ่ม ผิวฟันกรามแบบนี้ ไม่เหมือนทั้งของช้างม้าวัวควาย ไม่เหมือนทั้งของเสือสิงห์กระทิงแรด แต่กลับไปละม้ายคล้ายคลึงกับของหมูและหมีซะมากกว่า ซึ่งสัตว์ทั้ง 2 กลุ่มนี้ หากดูตามพฤติกรรมการกิน จะพบว่าต่างก็เป็นสัตว์ที่ไม่เรื่องมากด้วยกันทั้งคู่ คือโดยทั่วไปกินอาหารได้หลากหลาย มีอะไรให้กินก็กินได้หมด ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเนื้อหรือเป็นพืชแต่อย่างเดียว เราเรียกพวกมันว่าเป็น Omnivore (คือ ผู้ที่กินทุกอย่าง)