สิ่งก่อสร้างน่าทึ่ง ที่ไม่น่าเชื่อว่าสร้างขึ้นในยุคโบราณ

หาก พูดถึงความสำเร็จในยุคโบราณอาจจะดูมืดมนและไม่น่าสนใจเท่าไหร่ แต่กลับมีสิ่งก่อสร้างบางอย่างที่มีลักษณะโครงสร้างทางวิศวกรรมที่น่าทึ่ง สร้างโดยคนสมัยโบราณโดยใช้ทักษะวิศวกรรมชั้นเยี่ยมจนเรายังต้องอาย


>>>>> เมืองใต้พิภพโบราณ เดอรินกูยู



เมืองใต้พิภพเดอรินกูยู (Derinkuyu) ถูกพบเมื่อปี ค.ศ. 1960 ที่ประเทศตุรกี เหตุก็เพราะว่าบ้านสมัยใหม่บนพื้นดินทำการซ่อมแซมเลยขุดไปจ๊ะเอ๋เข้าพอดี โชคยังดีที่ตลอดทั้ง 18 ชั้นของเมืองใต้ดินนี้ถูกทิ้งร้างไว้ และไม่ได้คลาคล่ำไปด้วยฝูงชนคนใต้ดิน ว่ากันให้ง่ายก็คือไม่มีผู้อยู่อาศัยนั่นเอง



เดอรินกูยูนี้ก็คือเมืองใต้ดินที่ประกอบกันเป็นห้องต่างๆ ที่สลับซับซ้อน สร้างเมื่อ 8 ศตวรรษก่อนคริสตกาล และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนสร้าง (สงสัยว่าจะเป็นปลวกยักษ์) เพื่อจะเข้าใจว่าทำไมมันถึงน่าทึ่งนัก ก็ลองนึกดูว่าให้เราที่มีแค่ค้อน กับสิ่ว ไปลองขุดห้องใต้ดินใหญ่ ๆ ซักห้องนึง ที่จุคนสักได้สองหมื่นคน แถมไม่มีเครื่องมือสมัยใหม่ให้ใช้ด้วย เราจะทำได้รึเปล่า



เมืองนี้คาดว่าอาจสร้างขึ้นเพื่อเป็นหลุมหลบภัยสำหรับลี้ภัยทางสงครามหรือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ วิเคราะห์จากโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมแล้วก็ดูเหมือนจะเป็นหลุมหลบภัยแสนสบาย ในวันสิ้นโลกเลยทีเดียว มีทางไปยังแหล่งน้ำไหลใสสะอาด แถมบ่อน้ำก็ยังไม่มีจุดเชื่อมออกไปบนพื้นดินอีก เผื่อไว้ว่าจะมีผู้ประสงค์ร้ายบนพื้นดินใส่ยาพิษเข้าไป เมืองทั้งเมืองประกอบไปด้วย เขตที่พักอาศัยส่วนตัว ร้านค้า ห้องสาธารณะ (สงสัยใช้เป็นเหมือนสวนสาธารณะ) สุสาน คลังสรรพาวุธ คอกปศุสัตว์ ช่องทางหนีฉุกเฉิน อีกทั้งยังมีโรงเรียนแถมด้วยห้องหับให้นั่งเรียนกันเรียบร้อย

ที่สุดยิ่งกว่านั้นคือ ที่พูดมาทั้งหมดนี้เขายังขุดค้นกันได้ไม่ครบเลยด้วยซ้ำ ยังมีพื้นที่ๆ ยังไม่ได้สำรวจกันอีกเยอะ ขุดไปอีกหน่อยอาจจะเจอสนามกอล์ฟ กับสนามฟุตบอลก็เป็นได้






>>>>>> คูหาใต้พิภพแห่ง ฮาล-ซาเฟลียนี่ แหล่งสร้างเสียงสุดน่าทึ่ง



ใต้ดินที่เกาะมาลทา (Malta) มีสิ่งก่อสร้างจากหินเมกาลิธ (Megalithic) ขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกกันเท่ห์ ๆ ว่า Hypogeum of Hal-Saflieni (คูหาใต้ดินแห่ง ฮาล-ซาเฟลียนี่) ฟัง ๆ ดูอาจจะเหมือนชื่อหนังเรื่องใหม่ซักเรื่อง (ก็เค้าตั้งให้เท่ห์นี่) สิ่งก่อสร้างนี้ถูกพบโดยบังเอิญในปี ค.ศ.1902 เมื่อคนงานขุดหลุมลึกลงไปจนเจอเพดานของห้องเข้า และที่สยองสุดๆ ก็คือ พวกเขาเจอโครงกระดูกมนุษย์เกือบ ๆ 7,000 โครง แออัดยัดเยียดอยู่ตรงหน้าทางเข้า

แต่ก็อย่างว่า คนเราก็ใช่ว่าจะกลัวตายกันทุกคน แทนที่จะวิ่งหนีเผ่นป่าราบเหล่าคนงานตัดสินใจจะเดินสำรวจรอบ ๆ แบบไม่สังเกตสักนิดว่า กระดูก 7,000 โครงด้านหน้ามันหาทางหนีตายมาก่อน และเป็นโชคดีที่พวกเขาได้ค้นพบข้อเท็จจริงอันน่าทึ่งอย่างหนึ่ง



โครงสร้างใต้ดินสามชั้นสร้างด้วยหินเมกาลิธที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนสร้าง (เหมือนเมืองแรก) และที่ทำให้เราทึ่งได้อีกก็คือ เสียงของผู้ชายที่ยืนอยู่ตรงกลางห้องจะสามารถสะท้อนก้องได้ยินกันทั่วถึง (ไม่แน่ใจว่าทั้งสามชั้นรึเปล่า ) โดยมันจะมีผลก็ต่อเมื่อเป็นเสียงที่อยู่ในช่วงความถี่ระหว่าง 95 120 เฮิร์ตซ์ พูดง่าย ๆ ก็คือ จะสะท้อนได้เฉพาะเสียงผู้ชายเท่านั้น ถ้าเป็นเสียงสาวจะเล็กจะใหญ่ก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น




แค่นั้นยังแปลกไม่พอ ถ้าหากคุณเป็นผู้ชาย แล้วไปแผดเสียง (เน้นว่าแผด) ในความถี่ 110 เฮิร์ตซ์ เสียงที่ได้ยินทั่วถึงทั้งคูหาจะเหนี่ยวนำให้สมองรู้สึกเหมือนตกอยู่ใน ภวังค์ ซึ่งเขาอธิบายไว้ว่าเสียงที่เกิดขึ้นจะไปกระตุ้นสมองในส่วนความคิดสร้าง สรรค์ของมนุษย์

พูดให้เห็นตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ ถ้าคุณอยู่ในคูหานี้ แล้วมีคนร้องเพลงตรงกลางห้องอยู่ คุณก็จะสามารถ เข้าใกล้ประสบการณ์ทางศาสนาของตัวเอง ได้มากขึ้น แหม ก็เล่นไปกระตุ้นสมองกันซะขนาดนั้นนี่ ข้อมูลก็มีเท่านี้ ยังไม่มีใครทราบว่าคนสร้างทำได้อย่างไร แต่ที่รู้อยู่อย่างคือ ความรู้ด้านเสียงคงเข้าขั้นเทพ ถึงได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สมัยนี้พากันงงเป็นแถบ แต่คนเราสมัยใหม่ก็ไม่น้อยหน้า ยิ่งดวดเหล้าไปเยอะ ก็ยิ่งแหกปากอย่างมีศักยภาพได้ยินก้องไปทั่วเหมือนกัน



>>>>>>> เขื่อนโบราณมาริบที่มีอายุการใช้งานกว่าพันปี



เยเมน เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องฝุ่นและความแห้งแล้ง เป็นสาเหตุให้อาณาจักรเซเบียนโบราณสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อ 750 ปีก่อนคริสตกาล

เขื่อนนี้เกือบถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งอัศจรรย์ของโลกอย่างเป็นทาง การแล้ว (แต่ในที่สุดก็ไม่ได้เป็น) เป็นที่ยอมรับในด้านความสามารถทางวิศวกรรมที่เยี่ยมยอดในช่วงก่อนยุคปฏิวัติ อุตสาหกรรม การสร้างเขื่อนใช่ว่าจะแค่โยน ๆ หินให้เป็นรูปครึ่งวงกลม (คนนะไม่ใช่บีเวอร์) แต่ต้องคำนึงถึงการสร้างคลองเพื่อส่งต่อน้ำ ประตูน้ำ ทางระบายน้ำล้น แหล่งกักเก็บน้ำ แค่นี้ยังยากไม่พอต้องคิดด้วยว่าทั้งหมดนี่ต้องกันน้ำด้วย ไม่งั้นคนที่อยู่ริมน้ำคงได้จมหายไปตอนเช้ากันหมด



ชาวเซเบียนคิดเรื่องพวกนี้ได้ก่อนจะมีการคิดค้นคอนกรีตขึ้นมาเสียอีก แถมเขื่อนนี้ยังมีอายุการใช้งานมากกว่าพันปีด้วย จะเปรียบเทียบให้ว่าเขื่อนสมัยใหม่ยุคเราจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่แค่ 50 ปีเท่านั้นเอง หรือถ้าเป็นตัวเก๋าจริง ๆ ก็มีอายุถึงแค่ 100 ปี

เขื่อนใหญ่มาริบมีความยาวประมาณ 2,000 ฟุต (หรือประมาณ 600 เมตร ประมาณเขื่อนศรีนครินทร์บ้านเรา) ในช่วงที่มันใช้งานได้ เขื่อนนี้ได้เปลี่ยนเยเมนโบราณให้กลายเป็นโอเอซิสอันอุดมสมบูรณ์ ที่รู้จักกันดีในนามอาณาจักร ชีบา (ของราชินีชีบาผู้โด่งดัง) แต่ก็เป็นธรรมดา ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมดับสูญตามกาลเวลา ในที่สุดเขื่อนยักษ์องอาจแห่งนี้ก็แตกเมื่อประมาณปีคริสตศักราชที่ 600 เป็นเหตุล่มสลายของระบบเกษตรกรรม และเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้กลายเป็นทะเลทรายจนถึงทุกวันนี้







>>>>>>> เมืองพูมาพุนกุ สิ่งก่อสร้างจากโครงสร้างหินประสานที่ซับซ้อน



พูมาพุนกุ (Puma Punku) เป็นเมืองที่สร้างโดยชาว ธิวานากุ (Tiwanaku) ซึ่งเป็นชนเผ่าโบราณในประเทศโบลิเวีย สิ่งที่ทำให้เมืองนี้แตกต่างจากเมืองโบราณอื่นก็คือ งานสถาปัตยกรรมอันวิจิตรพิศดารที่สร้างจากหิน ซึ่งช่างหินสมัยนี้ยังต้องอิจฉา อ่านดูจะหาว่าเวอร์ ต้องไปดูรูปภาพประกอบ





ด้วยเทคโนโลยีที่ล้าหลัง พวกเขาเริ่มสร้างงานด้วยหินขนาดใหญ่หลายพันก้อน มาต่อกันเป็นบล็อคเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้าง จะว่าไปก็ฟังดูเหมือนเราไปต่อบ้านด้วยเลโก้นั่นแหละ เราทำสิ่งเหล่านี้ได้โดยใช้เครื่องตัดเลเซอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือตัดที่มีศักยภาพในการตัดเป็นเส้นตรงและมีความแม่นยำสูง แต่คนโบราณเขาใช้แค่ไม้บรรทัดกับสิ่วเท่านั้น



เพื่อจะทำให้สิ่งก่อสร้างมีพื้นฐานที่มั่นคง เหล่านักก่อสร้างโบราณใช้เหล็กยึดที่มีลักษณะเหมือนตัว I ไม่ให้หินแยกจากกันในกรณีเกิดแผ่นดินไหว

เหล็กยึดที่ว่านี้ไม่ได้ใช้แค่กับหินขนาดเล็กเท่านั้น แต่ใช้ในหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่วัดได้มีขนาดยาว 25 ฟุต กว้าง 17 ฟุต (เกือบ 40 ลูกบาศก์เมตร ประมาณบ้านหลังย่อม ๆ) ซึ่งคาดว่าน่าจะหนักประมาณ 130 ตันด้วย คนเราสมัยก่อนก็แปลก วิวัตนาการด้านล้อก็ไม่มี เครนเอยก็ยังไม่ได้สร้าง ขนาดตัวหนังสือซักตัวยังไม่ได้คิดค้นกันขึ้นมาเลย แต่กลับเคลื่อนย้ายหินขนาดใหญ่เหล่านี้ไปยังพูมาพุนกุได้ ก่อนจะค่อยๆ ตัดให้เป็นรูปร่างที่ต้องการแบบเท่ากับเป๊ะๆ ทุกก้อน

แต่ในที่สุดแล้ว ชนชาวธิวานากุนี้ก็เหมือนกลุ่มชนลี้ลับอื่น ๆ ที่หายสาบสูญไปจากประวัติศาสตร์เสียเฉยๆ แต่งานสถาปัตยกรรมของพวกเขาก็ยังคงสร้างความตื่นตาติ่นใจให้กับอาณาจักรที่ มาอยู่ต่อ ซึ่งก็คือชาวอินคานั่นเอง ซึ่งพอมาเห็นเมืองนี้ก็คิดว่าเข้าใจว่านี่คือผลงานของพระเจ้า และคิดว่าพูมาพุนกุนี้เป็นศูนย์กลางของโลกซะอย่างนั้น



>>>>>>> โกเบคลี เทเป สิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นก่อนมนุษย์จะคิดค้นเกษตรกรรม



ย้อนกลับไปที่สมัย ค.ศ. 1960 นักสำรวจในตุรกีค้นพบสิ่งก่อสร้างที่ฝังอยู่ใต้ดิน ประกอบไปด้วยเสาหินขนาดใหญ่เรียงตัวเป็นวงกลมคล้ายสโตนเฮนจ์ (Stonehenge) เสาบางต้นสูง 30 ฟุต (9 เมตรกว่า) แต่ที่ทำให้พากันช็อคตาแทบถลนก็คือ สิ่งก่อสร้างนี้มีอายุเก่าแก่กว่าสโตนเฮนจ์ร่วม 6,000 ปีได้

สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่จากหินปูนที่มีความประณีตนี้ได้รับการสลักจากหินก้อน ใหญ่ในเหมืองใกล้ ๆ กันด้วยหินเหล็กไฟกับมือเปล่า มีการสำรวจอายุของสิ่งก่อสร้างนี้ว่ามีอายุร่วม 9,000 ปีก่อนคริสตกาล (Gobekli Tepe)

ขอบคุณที่มา http://www.everyday-readers.com