หินตะกอนในออสเตรเลีย ได้เก็บข้อมูลจุลินทรีย์ดึกดำบรรพ์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตในยุคแรกๆ ของโลกไว้ และพื้นผิวถูกคลุมด้วยวัสดุคล้ายผืนพรมซึ่งเป็นการสะสมวัสดุที่เกิดจาก แบคทีเรีย (ไซน์เดลี/Nora Noffke)
ปกติการประกอบเรื่องราวการอุบัติของสิ่งมีชีวิตในยุคประวัติศาสตร์โลกขณะ วิวัฒนาการขึ้นครั้งแรก นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักวิทยาศาสตร์ เพราะหินตะกอนเก่าแก่ที่สุดของโลกไม่ใช่เพียงหายาก แต่ยังจะถูกเปลี่ยนแปลงจากการกระทำของแหล่งน้ำร้อนและการแปรสัณฐานทางธรณี
ทว่าการศึกษาตัวอย่างหินตะกอนอายุเกือบ 3.5 พันล้านปี ที่พบในออสเตรเลียได้เผยหลักฐานของระบบนิเวศวิทยาของแบคทีเรียดึกดำบรรพ์ที่ ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี โดยไซน์เดลีระบุว่า การศึกษาดังกล่าวได้ตีพิมพ์เผยแพร่ลงวารสารแอสโตรไบโอโลจี (Astrobiology) ซึ่งทีมวิจัยประกอบด้วย นอรา นอฟฟ์เก (Nora Noffke) และ โรเบิร์ต ฮาเซน (Robert Hazen) จากสถาบันคาร์เนกีวอชิงตัน (Carnegie Institution of Washington) สหรัฐฯ แดเนียล คริสเตียน (Daniel Christian) จากมหาวิทยาลัยโอลด์โดมิเนียน (Old Dominion University) และ เดวิด วาเคย์ (David Wacey) จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย (University of Western Australia)
ทีมวิจัยได้ศึกษาตัวอย่างจากพื้นที่ในภูมิภาคพิลบารา (Pilbara) ของออสเตรเลียตะวันตก ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องเป็นแหล่งทางธรณีวิทยาสำหรับศึกษาวิวัฒนาการของสิ่ง มีชีวิตยุคแรกๆ โดยแหล่งสะสมที่คล้ายเนินดินที่พวกเขาศึกษานั้นสร้างขึ้นจากแบคทีเรีย สังเคราะห์แสงยุคดึกดำบรรพ์ที่เรียกว่า “สโตรมาโทไลต์” (stromatolite) และนักวิทยาศาสตร์ได้เขียนอธิบายเกี่ยวกับฟอสซิลจิ๋วของแบคทีเรียดังกล่าว
ไซน์เดลีรายงานด้วยว่า ไม่เคยเห็นปรากฏการณ์โครงสร้างจากการสะสมโดยจุลินทรีย์หรือ มิส (MISS: microbially induced sedimentary structures) ในบริเวณข้างต้นมาก่อน โดยโครงสร้างดังกล่าว เกิดจากผืนพรมวัสดุจุลินทรีย์คล้ายที่พบเห็นในบริเวณน้ำนิ่งหรือที่ราบชาย ฝั่งในปัจจุบัน
ทีมวิจัยได้อธิบายถึงโครงสร้างมิสจำนวนมากที่ถูกเก็บรักษาอยู่ในแถบเดรส เซอร์ฟอร์เมชัน (Dresser Formation) ของภูมิภาคดังกล่าว โดยการวิเคราะห์ทางเคมีชั้นสูงได้ชี้ถึงกำเนิดทางชีววิทยาของวัสดุดังกล่าว ซึ่งนอฟฟ์เกและคณะพบว่าฟอสซิลมิสที่เดรสเซอร์นั้น คล้ายคลึงกับมิสที่กำเนิดและถูกเก็บรักษาไว้ในตัวอย่างหินอื่นๆ ที่มีอายุน้อยกว่า อย่างเช่นตัวอย่างอายุ 2.9 พันล้านที่พบในแอฟริกาใต้ แต่ตัวอย่างที่พบในออสเตรเลียนั้นน่าจะเกิดจากผืนพรมวัสดุจากกลุ่ม จุลินทรีย์ที่เคยมีอยู่เมื่อเกือบ 3.5 พันล้านปีก่อน
ทั้งนี้ ทีมวิจัยสันนิษฐานว่า หินตะกอนโครงสร้างดังกล่าวน่าจะเกิดจากแผ่นฟิล์มของแบคทีเรียที่กระทบกับ ตะกอนชายฝั่งจากบริเวณนั้น ซึ่งนอฟฟ์เกกล่าวว่าโครงสร้างที่เห็นแสดงสัญญาณอย่างชัดเจนของสภาพในยุคอดีต และสิ่งที่แบคทีเรียซึ่งสร้างแผ่นไบโอฟิล์ม (biofilm) สามารถทำได้
นอกจากนี้มิสยังเป็นหนึ่งในภารกิจเป้าหมายของยานโรเวอร์สำรวจดาวอังคาร เพื่อค้นหาการก่อกำเนิดโครงสร้างคล้ายๆ กันนี้ บนพื้นผิวดาวอังคาร ดังนั้นการค้นพบตัวอย่างที่ออสเตรเลียของทีมวิจัย อาจมีความสัมพันธ์กับการศึกษาในระบบสุริยะที่กว้างขึ้นได้
soccersuck.com