ตะลึง ! พบ 'ปลาพันธุ์ใหม่' ของโลกที่ลำน้ำแม่แจ่ม

        
 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบปลาพันธุ์ใหม่ของโลกที่ลำน้ำแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ขอพระราชทานชื่อ 'ปลาค้อเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์'...
วันที่ 7 ธ.ค. ผศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี และอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำได้ออกปฏิบัติงานด้านการสำรวจชนิดของ สิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะปลาในลุ่มน้ำภาคเหนือโดยทำต่อเนื่องกันมากว่า 18 ปีแล้วและในปีนี้ได้ค้นพบปลาชนิดใหม่ของโลก และได้ขอพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งท่านทรงประทานชื่อว่า "ปลาค้อเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์" หลังจากนี้คณะเทคโนโลยีการประมงฯ จะทำการวิจัยปลา ค้อชนิดนี้ต่อไปอีกเพื่อให้เกิดการขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติให้มากขึ้น ต่อไปในอนาคต 
ผศ.ดร.อภินันท์ เปิดเผยว่า "ปลาค้อเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์" ค้นพบที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม บริเวณห้วยแม่ตะละน้อยบ้านแม่ตะละ ตำบลแม่แดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้กับหมู่บ้านในแหล่งน้ำไหลไม่แรงมากนัก พื้นท้องน้ำเป็นทรายกรวด ก้อนหินเล็กโคลนเล็กน้อย และมีก้อนหินขนาดใหญ่บ้าง ที่ระดับความสูง 764เมตร จากระดับน้ำทะเล ปลาดังกล่าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physoschisturachulabhornae เป็นปลาที่พบในบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำแม่แจ่มซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง อยู่ในสกุล Physoschistura
ลักษณะเด่นคือมีรูบนเกล็ดเส้นข้างตัวจำนวน 62-83 รูครีบหลังมีจุดเริ่มต้นอู่หน้าครีบท้องเล็กน้อย มีเกล็ดพิเศษที่ฐานของครีบท้อง เพศผู้มีติ่งเนื้อใต้ตาส่วนหน้าเป็นรูปค้อน มีแต้มสีดำในแนวข้างตัวจำนวน 10-13 แต้ม และมีแต้มริ้วสีดำบนสันหลังแถบดำที่โคนหางไม่เชื่อมต่อกันโดยด้านล่างเป็น แถบยาวส่วนด้านบนเป็นแถบสั้นปลาค้อเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก อาศัยอยู่กับพื้นท้องน้ำซึ่งไม่พบที่ใดในโลกนอกจากที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพียงแห่งเดียว 
ผศ.ดร.อภินันท์ กล่าวต่อว่า ปลาค้อใช้เป็นดัชนีบ่งชี้คุณภาพน้ำทางกายภาพได้เป็นอย่างดี เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วปลาค้อจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สะอาดและเป็น แหล่งต้นน้ำ คือ ลำธารบนภูเขาสูงที่ไหลมาจากน้ำตก กินแมลงน้ำและตะไคร่น้ำเป็นอาหาร แมลงน้ำและตะไคร่น้ำจะต้องอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่สะอาดเช่นกัน


ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์